รัฐบาลอินเดียขึ้นทะเบียนเป็นกรณีฉุกเฉิน ให้กับวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ที่พัฒนาโดยบริษัทภายในประเทศ เพิ่มเติมจากการรับรองวัคซีนของแอสตราเซเนกา/ออกซฟอร์ด
สำนักข่าวต่างประเทศรายงานจากกรุงนิวเดลี ประเทศอินเดีย เมื่อวันที่ 3 ม.ค. ว่า นพ.วิณุโกพาล โสมณี ผู้อำนวยการองค์การควบคุมมาตรฐานยาส่วนกลางของอินเดีย ( ซีดีเอสซีโอ ) แถลงเมื่อวันอาทิตย์ ยืนยันการมอบใบอนุญาตใช้งาน “เป็นกรณีฉุกเฉิน” ภายในประเทศ ให้กับวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ของสหราชอาณาจักร ชื่อ “โควิชิลด์” พัฒนาโดยบริษัทแอสตราเซเนกา ร่วมกับมหาวิทยาลัยออกซฟอร์ด
นอกจากนี้ ซีดีเอสซีโอยังมีมติให้มอบใบอนุญาตแบบเดียวกัน ให้กับวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ชื่อ “โควาซิน” พัฒนาโดยบริษัทภารัต ไบโอเทค หนึ่งในผู้ประกอบการด้านชีวเภสัชภัณฑ์รายใหญ่ของอินเดีย
ทั้งนี้ การรับรองวัคซีนของแอสตราเซเนกา/ออกซฟอร์ด เป็นไปตามแถลงการณ์ที่กระทรวงข่าวสารเผยแพร่แล้ว เมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมา ขณะที่นพ.โสมณีให้ข้อมูลเพิ่มว่า วัคซีนดังกล่าวมีประสิทธิภาพป้องกัน 70.42% ตามการศึกษาวิจัยโดยหน่วยงานของอินเดีย และให้ฉีด 2 ครั้ง ห่างกัน 28 วัน
เช่นเดียวกัน วัคซีนโควาซินสามารถกระตุ้นให้ร่างกายมนุษย์ผลิตภูมิคุ้มกันเพื่อต้านทานกับเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่เช่นกัน แม้นพ.โสมณียังไม่ได้ให้รายละเอียดมากนัก แต่กล่าวว่าผลข้างเคียงที่เกิดขึ้นกับกลุ่มตัวอย่าง จากการได้รับวัคซีนทั้งของแอสตราเซเนกา/ออกซฟอร์ด และภารัต ไบโอเทค ไม่ว่าจะเป็น มีไข้และปวดกล้ามเนื้อ “เป็นเรื่องปกติ” ซึ่งสามารถรักษาให้หายได้ด้วยยาสามัญประจำบ้าน
ทั้งนี้ สถาบันเซรุ่มแห่งอินเดีย ( เอสไอไอ ) ซึ่งถือเป็นผู้ผลิตวัคซีนใหญ่ที่สุดของโลกเมื่อวัดจากปริมาณ และมีสำนักงานอยู่ที่เมืองปูเน ในรัฐมหาราษฎระ ริมชายฝั่งทางตะวันตกตอนกลางของอินเดีย ทำหน้าที่ผลิตวัคซีนของแอสตราเซเนกา/ออกซฟอร์ด โดยก่อนได้รับการอนุมัติอย่างเป็นทางการ เอสไอไอผลิตวัคซีนดังกล่าวไปแล้วมากกว่า 50 ล้านโดส